มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการ NPAEs

แนวปฏิบัติบัญชีและภาษี
การถือปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการ NPAEs

คำถามข้อที่ 1 ขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs

ตอบ
กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธาณะ (Non-Publicly Accountable Entities) หมายถึง กิจการที่ไม่ใช่กิจการดังต่อไปนี้
(1) กิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการ ที่มีการซื้อขายต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ หรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over the Counter)
(2) กิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เป็นต้น
(3) บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน
(4) กิจการอื่นที่จะกำหนดเพิ่มเติม
กิจการบางกิจการไม่ได้ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง แต่ได้รับความเชื่อือจากลูกค้าให้ดูแลหรือจัดการทรัพยากรทางการเงินของลูกค้าหรือสมาชิก ไม่ได้เข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการนั้น กิจการเหล่านี้ถือเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาะารณะ เช่น ตัวแทนการท่องเที่ยว ตัวแทนหรือนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ โรงรับจำนำ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีสถานภาพเป็นบริษัทจำกัด เป็นต้น ในกรณีที่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาะารณะไม่ประสงค์จะจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ ให้กิจการจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (TFRSs) ทุกแบับ โดยให้ถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

คำถามข้อที่ 2 หากปัจจุบันกิจการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) ต่อมาเข้าเงื่อนไขที่จะใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับNPAEs (เช่น บริษัทจำกัดที่เคยมีวัตถุประสงค์ที่จะออกขายหลักทรัพย์ใด ๆ ต่อประชาชน แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแผนการดังกล่าวแล้ว) กิจการจะสามารถใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs ได้หรือไม่
ตอบ

กิจการต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกใช้มาตรฐานให้เหมาะสมกับกิจการและต้องเปิดเผยเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกใช้มาตรฐานน้้น โดยกิจการต้องให้เหตุผลว่าการใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs ทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากยิ่งขึ้นอย่างไร และต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินเนื่องจาก TFRS for NPAEs บทที่ 5 และ TAS 8 กำหนดว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีทำได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
(1) เกิดจากข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
(2) ทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้น ในส่วนที่กี่ยวกับผลกระทบของรายการค้า เหตุการณ์และ
สถานการณ์อื่นที่มีต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกิจการประเมินแล้วและให้เหตุผลได้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปใช้มาตรฐาน TFRS for NPAEs เป็นไปตามบทที่ 5 และ TAS 8 แล้ว
การเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ใช้ต้องมีการปรับปรุงงบการเงินโดยวิธีปรับปรุงย้อนหลังงบการเงินเสมือนว่า
ใช้ TFRS for NPAEs ตั้งแต่แรก ตามข้อกำหนดในบทที่ 5 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี
และการแก้ไขข้อผิดพลาด ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี


คำถามข้อที่ 3 ในกรณีที่กิจการเคยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้ถูกเพิกถอนแล้ว (รวมถึงเพิกถอนโดยสมัครใจหรือโดยตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงกรณีที่กิจการได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไม่เข้า
ตลาดหลักทรัพย์แล้วแต่ยังคงสภาพเป็นบริษัทมหาชน) กิจการจะสามารถเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs ได้หรือไม่
ตอบ

กิจการไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs ได้ ด้วยเหตุผลของการถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จาก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือเพิกถอนโดยสมัครใจ เพราะแม้จะไม่เข้านิยมของ “กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” ตามย่อหน้าที่ 6.1 ของ TFRS for NPAEs ที่เป็นกิจการที่มีตราสารทุนหรือตราสารหนี้ของกิจการซึ่งมีการซื้อขายต่อประชาชน แต่กิจการยังคงเข้านิยาม
ตามย่อหน้าที่ 6.3 ของ TFRS for NPAEs ซึ่งระบุว่าเป็น “บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน” ดังนั้น กิจการจึงยังคงต้อง
ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) ต่อไปเช่นเดิม


คำถามข้อที่ 4 กิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานการเงินสำหรับ NPEAs ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า หรือ TFRS 16 เรื่อง สัญญาเช่าหรือไม่
ตอบ

กิจการต้องไม่นำ TFRS15 หรือ TFRS16 มาถือปฏิบัติ เนื่องจาก TFRS15 หรือ TFRS16 มีผลบังคับใช้กับกิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ PAEs เท่านั้น ดังนั้น กิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางกรเงินสำหรับ NPAEs ยังคงต้องรับรู้รายได้ตามข้อกำหนดในบทที่ 18 เรื่อง รายได้ หรือยังคงต้องแบ่งประเภทสัญญาเช่า เป็นสัญญาเช่าการเงิน และสัญญาเช่าดำเนินงาน และปฏิบัติตามข้อกำหนดในบทที่ 14 เรื่อง สัญญาเช่าเท่านั้น


คำถามข้อที่ 5  กิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs และมีรายการอนุพันธ์ที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยง กิจการ NPAEs จะถือปฏิบัติในเรื่องการบัญชีสำหรับการบัญชีป้องกันความเสี่ยงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงินได้หรือไม่
ตอบ

เนื่องจาก TFRS for NPAEs ไม่กำหนดให้กิจการรับรู้รายการสำหรับการบัญชีป้องกันความเสี่ยง หากกิจการเห็นถึงประโยชน์ของการ
รับรู้รายการสำหรับรายการดังกล่าว กิจการก็สามารถจัดทำได้ โดยอาจปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบัญชีป้องกันความเสี่ยงในมาตรฐานการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงการเปิดเผยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากถือปฏิบัติดังกล่าว กิจการต้องถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีตามข้อกำหนดในบทที่ 5 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และการแก้ไขข้อผิดพลาด


คำถามข้อที่ 6  กิจการที่ใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs จะสามารถเลือกใช้วิธีการตีราคาใหม่ในการวัดมูลค่าภายหลังของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และ/หรือใช้วิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมในการวัดมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนได้หรือไม่

ตอบ 

สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 กิจการสามารถเลือกใช้วิธีการตีราคาใหม่ในการวัดมูลค่าภายหลังของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ และ/หรือวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยต้องปฏิบัติตามประกาศสภาวิชาชีพที่ 42/2563 เรื่อง ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะเรื่องที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ และอสัหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน


คำถามข้อที่ 7  ในกรณีที่กิจการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับ NPAEs แต่มีการนำหลักการบัญชีของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) มาถือปฏิบัติ ซึ่งหลักการของมาตรฐานการรายงานทางการเงินนั้น ได้กำหนดให้กิจการรับรู้รายการกำไรหรือขาดทุน
บางประเภทใน “กำหรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (Other Comprehensive Income – OCI)” สำหรับงวดในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ แต่
TFRS for NPAEs บทที่ 4 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน ย่อหน้าที่ 31.2 ระบุให้ กิจการจัดทำงบกำไรขาดทุนเท่านั้น เพื่อแสดงถึงผลการ
ดำเนินงานของกิจการสำหรับงวด ดังน้น กิจการจะต้องรับรู้รายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นดังกล่าว อย่างไร

ตอบ

สำหรับรายการซึ่งมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) กำหนดให้รับรู้ไว้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น สำหรับงวดนั้น ให้กิจการถือปฏิบัติกับรายการดังกล่าวโดยรับรู้ไปยังส่วนของเจ้าของโดยตรงแทน


คำถามข้อที่ 8 กิจการที่มีผลกำไรขาดทุนจากหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย จำเป็นต้องรับรู้ผลกำไรขาดทุนดังกล่าวไปยังส่วนของเจ้าของโดยตรมตามที่กล่าวไว้ในคำถามข้อที่ 7 ทุกกรณีหรือไม่


ตอบ

กิจการที่มีผลกำไรขาดทุนจากหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไม่จำเป็นต้องรับรู้ผลกำไรขาดทุนดังกล่าวไปยังส่วนของเจ้าของโดยตรงทุกกรณี กล่าวคือ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 กิจการ NPAEs ที่วัดมูลค่าประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงาน โดยใช้วิธีคิดลดแต่ละหน่วยที่ประมาณการไว้เป็นหนึ่งในวิธีประมาณการผลประโยชน์ของพนักงานที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ถือปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี ฉบับที่ 19 ให้กิจการรับรู้รายการผลกำไรขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในงบกำไรขาดทุน โดยถือว่า ผลกำไรขาดทุนดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงของประมาณการหนี้สิน
กรณีที่ 2 กิจการ NPAEs ที่นำมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 มาถือปฏิบัติและมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้กิจการรับรู้รายการดังต่อไปนี้ ต้นทุนบริการปัจจุบัน ต้นทุนบริการในอดีตและผลกำไรขาดทุนจากการจ่ายชำระผลประโยชน์ ดอกเบี้ยสุทธิจากหนี้สิน (สินทรัพย์)
ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้สุทธิในงบกำไรขาดทุน ส่วนผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการวัดมูลค่าใหม่ของหนี้สิน (สินทรัพย์) ผลประโยชน์ที่กำหนดไว้สุทธิให้รับรู้ในส่วนของเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม กิจการที่เคยรับรู้ผลกำไรขาดทุนที่เกิดจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยในงบกำไรขาดทุนที่เป็นไป ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 ฉบับปรับปรุงก่อนปี 2558 ให้กิจการถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 ฉบับปรับปรุงฉบับล่าสุด

นอกจากนี้ ในกรณีที่กิจการถือปฏิบัติตามมาตรการรายงานทางการเงิน (TFRS) ที่ TFRS for NPAEs อนุญาตให้ถือปฏิบัติได้ในกรณีต่าง ๆ กิจการต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) ฉบับปรับปรุงฉบับล่าสุดที่สอดคล้องกับการปิดงบการเงินของบริษัท เช่น งบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กิจการต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่มีการปรับปรุงในปี 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้น

 

Scroll to Top
Scroll to Top